สถานีรถไฟแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ในเมือง Arida ที่ญี่ปุ่น

สถานีรถไฟแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ในเมือง Arida ที่ญี่ปุ่น

บริษัทก่อสร้าง Serendix ในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ในเมือง Arida ในญี่ปุ่น ซึ่งสร้างเสร็จภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ระหว่างรถไฟขบวนสุดท้าย และขบวนแรกของวันถัดไป

โดยความร่วมมือระหว่าง JR West Japan Group และ สำนักงานสถาปนิก Neuob, Serendix ได้สร้างที่พักผู้โดยสารที่มีหลังคาโค้ง ที่สถานี Hatsushima เพื่อทดแทนหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้มาตั้งแต่ปี 1948

ทาง Serendix กล่าวว่าการออกแบบนี้เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ มันถูกสร้างขึ้นจากชิ้นส่วน 4 ชิ้นที่พิมพ์ขึ้นในโรงงาน แล้วนำมาประกอบที่สถานี Hatsushima ภายในเวลาไม่ถึงหกชั่วโมง เพื่อให้ทันรถไฟขบวนแรกที่จะเริ่มให้บริการในช่วงเช้า

บริษัท Serendix ผู้สร้างสถานีรถไฟด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

ชิ้นส่วนทั้งหมดมีอยู่ 4 ชิ้นคือ หลังคา ผนังด้านหลัง และหัวมุม 2 ชิ้นที่ประกอบกันเป็นพื้นและผนังด้านข้าง ซึ่งทั้งหมดทำขึ้นล่วงหน้าในโรงงานโดยใช้เวลาเพียง 7 วัน

การก่อสร้างใช้เวลาเพียงหกชั่วโมง

มีการใช้แขนโรบอท และหัวฉีดเพื่อพิมพ์ชิ้นส่วนทั้งสี่ด้วยปูนที่ถูกออกแบบให้แห้งเร็วกว่าปูนทั่วไป จากนั้นจะมีการใส่เหล็กเสริม และเทปูนซีเมนต์ทับลงไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ชิ้นส่วนทั้งสี่ชิ้นถูกประกอบเข้ากันภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง จากนั้นก็จะมีการใส่แท่งเหล็กในตำแหน่งที่กำหนดไว้แล้วเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้งหมด แล้วใส่ตัวประสานเพื่อให้โครงสร้างมีความแข็งแรงเต็มที่

มีการตกแต่งด้วยรูปนูนต่ำของส้มแมนดารินที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้

สถานี Hatsushima มีขนาดความยาว 6.30 เมตร และกว้าง 2.1 เมตร และมีหลังคาโค้งสูง 2.6 เมตร ที่กำแพงด้านหลังด้านหนึ่งจะมีการตกแต่งด้วยรูปส้มแมนดาริน ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์สามมิติ และอีกด้านหนึ่งจะเป็นรูปปลาดาบเงิน ซึ่งทั้งคู่เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของเมือง Arida

ตัวอาคารประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก

ในการพิมพ์ผนังจะใช้การพิมพ์ในแนวตั้งแทนที่การพิมพ์ในแนวราบ เมื่อประกอบเสร็จแล้วจะเห็นเลเยอร์เป็นเส้นในแนวตั้ง ซึ่งมีประโยชน์ที่ช่วยให้ไม่มีรอยน้ำฝน และน้ำฝนจะไม่ขัง ทำให้ดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น สถานีนี้จะเริ่มเปิดใช้งานในเดือนกรกฎาคม หลังจากมีการตกแต่งให้เรียบร้อย และติดตั้งจุดจำหน่ายตั๋วเรียบร้อยแล้ว

ผนังทั้งหมดจะพิมพ์แบบตั้งขึ้นเพื่อให้ได้เส้นแนวตั้ง

ทาง Serendix หวังว่าจะมีการสร้างสถานีรถไฟด้วยวิธีการพิมพ์สามมิติอีกในอนาคต เนื่องจากมันสามารถประหยัดได้มากกว่า เพราะการสร้างสถานีรถไฟขนาดนี้ด้วยวิธีปกติจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน และในญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนแรงงานอีกด้วย ทำให้ค่าแรงสูงมาก นี่จึงเป็นทางออกในการก่อสร้างที่ประหยัดทั้งค่าแรง และเวลา