รีวิว เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Flashforge Creator 2หัว 3D Printer

รีวิว เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Flashforge Creator 2หัว 3D Printer

สวัสดีครับ Print3Dd.com นำบทความรีวิวเครื่อง 3D Printer ยี่ห้อ Flashforge model Creator Dual Extruders หรือ 2 หัวฉีดมาแบ่งปันกัน

เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นมีหลายแบบ หลายขนาด หลายยี่ห้อ ราคาตั้งแต่หมื่นกว่าๆ(เราต้องประกอบเอง) จนถึงหลักแสน หลักล้าน(Objet หรือ PolyJet ซึ่งมีลักษณะการพิมพ์ชิ้นงาน 3D โดยใช้หลักการคล้ายวิธีการพิมพ์ Inkjet เปลี่ยนจากให้ละอองหมึกสี เป็นผงพลาสติกสีแทน)

Flashforge Creator เป็นเครื่องปริ้น 3มิติแบบ FDM(Fused deposition modeling) คือ มีหัวที่เป็นส่วนทำความร้อน ละลายวัตถุดิบ(เส้นพลาสติก filament ABS หรือ PLA) ออกมา โดยจะพิมพ์ชิ้นงานที่ละชั้น หรือ layer โดยในท้องตลาดทั้งไปมีขาย FDM หลายยี่ห้อ เช่น Makerbot, Mendel,Reprap,UP

Flashforge Creator เป็นร่างแปลงของ Replicator II ของ Makerbot นั้นเองคือมีลักษณะทั้งภายนอก และภายในเหมือนกันเกือบทุกส่วน วัสดุคุณภาพของที่ใช้จัดว่าอยู่ในเกรดเดียวกันเลยทีเดียว โปรแกรมที่ใช้งานก็ใช้ตัวเดียวกัน คือ ReplicatorG ผลงานที่พิมพ์ออกมานั้นมีคุณภาพเท่ากัน แตกต่างเพียงที่ราคานั้นต่างกันอยู่พอสมควร โดยราคาของ Creator Dual Extruders อยู่ที่สามหมื่นปลายๆเท่านั้น

unboxing flashforge

แกะกล่อง ส่วนประกอบ

เมื่อเห็นการ packing ครั้งแรก รู้สึกค่อนข้างประทับใจครับ เพราะมีส่วนกันกระแทกแทบทุกส่วนเป็นกล่องเล็กกล่องน้อย ทุกด้านรวมแล้วเกือบ 10 กล่อง ทำให้ 3D Printer ตัวนี้แทบจะไม่มีโดนกระแทกโดยตรงเลยจากการขนส่ง จุดที่ดูน้อยไปหน่อยคือ Manual ครับคือให้มาแค่แผ่นเดียว นอกนั้นอยู่ในรูปแบบ PDF ที่จัดเก็บใน SD Card ที่แถมมา

ในกล่องมีให้มาหลายอย่าง ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์, สายUSB, สายไฟ, SD Card, แกนใส ม้วนพลาสติก, เส้นพลาสติก ABS PLA อย่างละม้วน,อะไหล่เล็กน้อย(เช่นสายแพ น็อตหลายตัว อุปกรณ์จับยึด ประแจ เป็นต้น) เมื่อแกะออกจากกล่องใช้เวลาดูและประกอบเล็กน้อย คือประมาณ 5 นาทีก็เริ่มใช้งานกันได้เลย

ส่วนประกอบหลักด้านนอกเป็นไม้อัด(ดูแข็งแรง และสวยดีที่เดียวครับ แต่ส่วนตัวคิดว่า โครงไม้ทำให้เกิดเสียงดังไปหน่อยเวลาพิมพ์ชิ้นงาน) จอ LCD ควบคุมการทำงาน พร้อมปุ่ม 4ทิศทาง+1ปุ่ม เพื่อใช้ในการบังคับการทำงานของเครื่องแบบ Manual ไม่ผ่าน USB มีมอเตอร์ไฟฟ้า 2ตัวควบคุมการเคลื่อนที่หัวฉีดในแนวแกน XY หัวฉีดเครื่องที่ในแนวระนาบเท่านั้น มอเตอร์อีก 1 ตัวควบคุมการเคลื่อนที่ในแนวตั้ง Z (การเคลื่อนที่ในแนวตั้งมีความแม่นยำมากกว่า เพื่อบังคับความหนาของ เลเยอร์)

ที่หัวฉีด มีมอเตอร์ 2 ตัวทำหน้าที่ feed เส้นพลาสติกให้หัวฉีดแต่ละข้าง มีพัดลมทำงาน 2 ตัวช่วยลดความร้อนที่มอเตอร์(พัดลมจะทำงานที่อุณหภูมิ 50 องศาขึ้นไป)

หลักการทำงาน

หลักการทำงานของเครื่อง Flashforge Creator นั้นจะทำงานสัมผัสกันทั้ง 3 แกนคือ ระนาบ XZ ที่หัวฉีดเคลื่อนที่ และ ในแนวแกนตั้ง Z ทำงานเคลื่อนที่ Heated bed ให้เคลื่อนที่ลง ชิ้นงานจะวางอยู่บน Heated bed จะถูกพิมพ์จากล่างสุดจนถึงส่วนยอดสุด

การฉีดเส้นพลาสติกนั้นจะวาดที่ละชั้น จนเสร็จหนึ่งชั้น จึ่งจะเริ่มทำให้ชั้นต่อไป จนครบ Layer ทั้งหมด จำนวนเลเยอร์นั้นสัมพันธ์ กับการตั้งค่าความสูงของ layer หากเลือก 0.1mm จะได้ชิ้นงานที่มีความสวยกว่า 0.2mm แต่ใช้เวลานานกว่านั้นเอง ตัวอย่าง เช่นหากชิ้นงานมีกว่าสูง 100mm(10cm) และพิมพ์ด้วย Layer Height 0.2mm ก็จะมีจำนวนเลเยอร์ทั้งหมด 500 ชั้น เป็นต้น

ตัวเครื่องสามารถควบคุมการทำงานได้ 2 ทางคือ ผ่านคอมพิวเตอร์(ผ่านโปรแกรม ReplicatorG) หรือ ผ่านเมนู LCD ที่ตัวเครื่องเลย โดยเราสามารถบังคับหัวฉีด Heated Bed ให้เคลื่อนที่, ปรับเปลี่ยนอุณหภูมิ, คำสั่งเปลี่ยน filament หรือ สั่งพิมพ์ชิ้นงานได้(สามารถสั่งพิมพ์ชิ้นงานผ่านสาย usb หรือ จาก SD Card ก็ได้)

การพิมพ์ชิ้นงาน

การพิมพ์ชิ้นงานนั้นต้องมี file โมเดล 3 มิติในรูปแบบ .STL หรือ .OBJ ก่อน เราสามารถทำขึ้นเองหรือโหลดจาก Open Source ที่มีโมเดลมากมายให้โหลดใช้ฟรีอย่าง www.thingiverse.com ก็ได้ จากนั้นเราต้องแปลงค่าของวัตถุ 3D นี้ให้อยู่ในรูปของ Gcode (คำสั่งที่เครื่อง Flashforge Creator เข้าใจ) โดยโปรแกรมที่ทำการแปลงเรียกว่า “ReplicatorG”

เมื่อเราได้ไฟล์โมเดล 3 มิติมาแล้วและเปิดในโปรแกรม ReplicatorG เราสามารถเลือกคำสั่งให้ Generate Gcode ได้โดยจะมีตัวอย่าง Option ให้เราเลือกแบบ Basic คือ

  • Object Infill คือการเลือกว่าจะพิมพ์ชิ้นงานแบบกลวง(0%), กึ่งกลวง, แบบตัน(100%)
  • Layer Height คือการเลือกความสูงของ Layer ในการพิมพ์ หากค่านี้น้อยจะพิมพ์ออกมาจละเอียดกว่า
  • Number of Shells คือการเพิ่มจำนวนของเปลือกคลุมชิ้นงาน สร้างความแข็งแรงและขึ้นรูปได้ดีกว่า แต่ใช้เวลาพิมพ์นานขึ้น เช่นถ้าเลือกค่านี้เป็น 1 เวลาพิมพ์จะมีเปลือกคลุมอีก 1 ชั้นเพิ่มขึ้นมา

เมื่อได้ Gcode มาแล้วเราจึงสามารถสั่งพิมพ์ชิ้นงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ หากต้องการพิมพ์ชิ้นงานโดยใช้ SD Card นั้นเราต้อง save ไฟล์เป็น .X3G อีกที

**UPDATE** แนะนำให้ใช้โปรแกรม MakerWare สำหรับผู้เริ่มใช้งานครับ ใช้งานง่าย,สะดวก และเร็วกว่า
>>สอน MakerWare-1 คลิ๊กที่นี้<<    //   >>สอน MarkerWare-2 คลิ๊กที่นี่<<


สรุป

หากพูดถึงการใช้งานแล้ว ค่อนข้างใช้ได้ดี และ เสถียรเชื่อถือได้ทีเดียว เหมาะสำหรับการใช้งานในองกรค์ขนาดเล็ก, สอนในโรงเรียน หรือ มหาลัย หรือ ใช้ตามบ้านเรือนสำหรับทำเป็นงานอดิเรก หรืองานออกแบบ
หากจะรับงานแบบ Mass Production คงยากหน่อยครับเพราะพิมพ์ได้ขนาดจำกัด หากรับจ้างพิมพ์ชิ้นงานไม่ใหญ่มาก 1-2 ชิ้นต่อลูกค้า ก็ยังพอไหวอยู่

ข้อดี

  • ราคาถูก หากเทียบกับ ความสามารถ, คุณภาพ ,การประกอบประกอบตัวเครื่อง
  • รองรับการทำงานกับ MakerBot Replicator จึงหาบทความหรือข้อมูล support เพิ่มเติมได้ง่ายจาก internet
  • มี Heated Bed พิมพ์ชิ้นงาน ABS ได้
  • สามารถสั่งพิมพ์ได้จาก SD Card

ข้อเสีย

  • เวลาพิมพ์มีเสียง ค่อนข้างดัง
  • interface ของ ReplicatorG ไม่ค่อยสวย **update สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้ใช้ MakerWare ใช้งานง่ายกว่า
  • ไม่มีไฟ ส่องลงไปที่ชิ้นงาน(ส่วนตัวคิดว่าคงจะดีถ้าบริษัท ติด LED ไว้ส่องลงไปที่ชิ้นงาน)

Credit : DreamCatcher@Print3DD.com

[slideshow_deploy id=’552′]

Spec

สองหัวฉีด พิมพ์ได้ 2 สี หรือ 2 ชิ้นงานในเวลาเดียวกัน
เส้นพลาสติก filament: ABS และ PLA 1.75mm
มี Heated Bed สามารถพิมพ์งาน ABS ได้
ขนาดชิ้นงานใหญ่สุด : 225 x 145 x 150mm (8.9×5.7×5.9 นิ้ว)
ขนาดเครื่อง : 320 X 467 X 381mm (12.6×18.4×15 นิ้ว)
ความเร็วในการฉีด 40 mm3/sec
Layer Resolution ความสูงของเลเยอร์: 0.1-0.5 mm
น้ำหนักรวมกล่อง : 15.6kgs
ไฟล์ที่รองรับ : .STL .OBJ .X3G

รีวิวต่างประเทศ

ได้คะแนนรีวิวค่อนข้าง เยอะครับ 4.75 ดาว ดูรีวิวโดยคลิ๊กที่รูปครับ

Untitled-1

ได้ Ranking อันดับ 6 ของโลกจากเครื่องพิมพ์กว่า 5000 ยี่ห้อ โดยอันดับ 1-5 มีราคามากกว่า แสนทุกตัว อีกทั้งเป็นเครื่องพิมพ์ของเอเซียที่ได้ลำดับสูงสุด

Flashforge excellent