การพิมพ์สามมิติคืออะไร – เริ่มต้น / What is 3D Printing? – intro

การพิมพ์สามมิติคืออะไร – เริ่มต้น / What is 3D Printing? – intro

ที่มา: 3dhubs.com

*** บทความนี้มีเนื้อหาที่ยาวมาก จะขอตัดมานำเสนอเป็นตอนๆ นะครับ ***

การพิมพ์สามมิติเป็นกระบวนการสร้างชิ้นงานจากการพอกเนื้อวัสดุเข้าไปให้เป็นรูปร่างตามที่ออกแบบไว้ ระบบการพิมพ์สามมิติมีอยู่หลายระบบ รวมถึงวัสดุที่พิมพ์ได้มีหลากหลายชนิด แต่ทั้งหมดมีหลักการพื้นฐานเดียวกัน คือการเปลี่ยนไฟล์ดิจิตอลสามมิติให้เป็นวัตถุรูปทรงสามมิติโดยการเพิ่มเนื้อวัสดุเข้าไปทีละชั้นๆ
ในบทความนี้มีเรื่องราวทุกย่างเกี่ยวกับการพิมพ์สามมิติ ที่คุณอยากจะได้รู้ เริ่มจากความรู้พื้นฐานก่อนที่จะลงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ที่คุณจำเป็นต้องรู้หากจะเริ่มใช้งานอย่างจริงจัง

ความรู้เบื้องต้น

– เครื่องพิมพ์สามมิติทำงานอย่างไร

การพิมพ์สามมิติจะเริ่มจากการมีไฟล์ดิจิตอล 3D ก่อนที่จะนำไปสร้างเป็นชิ้นงาน โดยไฟล์งานจะถูกซอยเป็นชั้นบางๆ แล้วส่งไปยังเครื่องพิมพ์สามมิติ

จากจุดนี้ไปเราจะแสดงขบวนการพิมพ์สามมิติตามรูปแบบของเทคโนโลยีการพิมพ์ โดยเริ่มตั้งแต่เครื่องพิมพ์แบบตั้งโต๊ะที่ใช้ความร้อนหลอมละลายพลาสติกแล้วเขียนลงบนแท่นพิมพ์ ไปจนถึงเครื่องใหญ่ๆ ระดับอุตสาหกรรมที่ใช้แสงเลเซอร์ยิงตามตำแหน่งที่ต้องการเพื่อละลายผงโลหะด้วยอุณหภูมิสูงมากๆ ในการพิมพ์อาจจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมงๆ ในการทำชิ้นงานหนึ่งๆ และมักจะต้องมีกรบวนการตกแต่งผิวตามมาเพื่อให้ได้พื้นผิวที่ต้องการ

วัตถุดิบที่เครื่องพิมพ์สามารถพิมพ์ได้จะขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องพิมพ์ด้วยเหมือนกัน ซึ่งมีตั้งแต่ยาง หินทราย โลหะ อัลลอย และวัสดุใหม่ๆ ที่ออกวางขายในตลาดทุกปี

ประวัติย่อๆ ของการพิมพ์สามมิติ

แม้ว่าการพิมพ์สามมิติจะดูเป็นของใหม่ล้ำสมัย แต่ในความเป็นจริงมันเกิดมาบนโลกใบนี้กว่า 30 ปีมาแล้ว
first-3d-printer
นาย Chuck Hull ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สามมิติเครื่องนี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1983 เข้าเรียกมันว่า ‘stereolithography’ ในการจดสิทธิบัตรเขาให้คำจำกัดความของเครื่องนี้ว่า ‘กระบวนการและเครื่องมือที่สร้างวัตถุรูปทรงสามมิติ โดยการ “พิมพ์” วัสดุที่แข็งตัวด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตเป็นชั้นบางๆ อย่างต่อเนื่อง ซ้อนกันขึ้นไป’ สิทธิบัตรนี้ นาย Chuck Hull เน้นการ ‘พิมพ์’ ด้วยสารเหลวที่แข็งตัวด้วยแสง แต่เมื่อเขาก่อตั้งบริษัทของเขาเองในชื่อ 3D Systems เขาก็รู้ว่ามันไม่ได้จำกัดอยู่ที่วัสดุเหลวเท่านั้น จึงได้มีการเพิ่มเติมลงในการจดสิทธิบัตรว่า ‘วัสดุใดๆ ที่สามารถทำให้แข็ง หรือปรับแต่งเปลี่ยนแปลงได้ ในทางกายภาพ’ ด้วยสิ่งนี้เขาริเริ่มสิ่งที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้ในนาม additive manufacturing (AM) หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ

แล้วทำไมถึงเพิ่งมาตื่นเต้นกันตอนนี้?

graph-sales-printersก่อนหน้านี้จนถึงปี 2009 การพิมพ์สามมิติถูกจำกัดการใช้งานอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น จากนั้นสิทธิบัตรของการพิมพ์สามมิติแบบ fused deposition modeling (FDM) ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานที่สุดก็หมดอายุลง

ด้วยเป้าหมายของโครงงาน RepRap ที่จะสร้างเครื่องที่สำเนาตัวมันเองได้ เครื่องพิมพ์สามมิติตั้งโต๊ะเครื่องแรกก็กำเนิดขึ้น จากนั้นก็มีคนสร้างตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เครื่องที่เคยมีราคาถึง 200,000 เหรียญ มีราคาลดลงต่ำกว่า 2,000 เหรียญและตลาดเครื่องพิมพ์สามมิติสำหรับผู้บริโภคก็เริ่มขึ้นในปี 2009

อัตราการจำหน่ายเครื่องพิมพ์สามมิติเริ่มโตขึ้นตั้งแต่นั้น และจากการที่สิทธิบัตรการพิมพ์สามมิติทยอยหมดอายุลง ทำให้มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา ปัจจุบันมีผู้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติประมาณ 300,000 คนทั่วโลก และตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นสองเท่าในทุกๆ ปี

ขัอดี และข้อด้อยของการพิมพ์สามมิติ

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจว่าการพิมพ์สามมิติมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีข้อที่เป็นประโยชน์ในตัวของมัน และยังขาดคุณสมบัติบางข้อเมื่อเทียบกับการผลิตแบบทั่วไป เราได้รวบรวมตัวอย่างทั้งสองด้านมาให้พิจารณากัน

ข้อดี

• สร้างสรรค์งานออกแบบที่ซับซ้อนได้
การพิมพ์สามมิติช่วยให้นักออกแบบสร้างงานที่มีความสลับซับซ้อนได้ ซึ่งงานจำนวนมากไม่สามารถผลิตโดยวิธีการอื่นๆ ได้ ซึ่งการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติไม่ได้ทำให้ความยุ่งยากซับซ้อนนั้นมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่ประการใด ตอนนี้งานออกแบบที่ดูว่าผลิตยากด้วยการผลิตแบบทั่วไปก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรที่เพิ่มขึ้นเลย

• ปรับเปลี่ยนขนาดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราต้องซื้อเสื้อผ้าขนาดมาตรฐานเท่าที่เขาวางขาย ด้วยวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม การผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ทำให้ราคาสินค้าถูกลง แต่อีกด้านหนึ่งการพิมพ์สามมิติทำให้ง่ายในการออกแบบ ปรับแต่งรูปแบบ ขนาด ด้วยระบบดิจิตอล โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรราคาแพง หรือเครื่องมือพิเศษใดๆ สรุปคือไม่ว่าจะปรับแต่งให้เข้ากับใครหรือสิ่งใดก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเลย

• ไม่ต้องการเครื่องมือ และแม่พิมพ์ ต้นทุนคงที่ต่ำมาก
เมื่อต้องการหล่อโลหะ หรือขึ้นรูปพลาสติก แต่ละชิ้นส่วนจะต้องทำแม่พิมพ์ขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้นโรงงานจะต้องผลิตและขายของแบบใดแบบหนึ่งเป็นจำนวนมากๆ เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป แต่เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นเครื่องมืออย่างเดียวในการผลิต ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือแม้แต่เวลาในการรอแม่พิมพ์ ทำให้ต้นทุนคงที่ของการผลิตต่ำมากๆ

• ความรวดเร็ว และง่ายในการสร้างต้นแบบ วางตลาดได้เร็วและเสี่ยงน้อยกว่า
เนื่องจากต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนที่ต่ำในการผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ดังนั้นนักออกแบบ และผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากการทดสอบตลาด หรือการทำสินค้าทดลองจำนวนน้อยๆ หรือแม้แต่การเปิดตัวสินค้าผ่านโครงการระดมทุนเช่น Kickstarter ในชั้นนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย หรือความเสียหายจากทุนที่ลงไปก่อนหน้า มันจึงเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงในการทดลองตลาดได้อย่างมาก

• ลดปริมาณของเสีย
ในการผลิตโดยทั่วไปจะใช้วิธีการกัด เจาะ กลึง ไส เนื้อวัสดุออกไป โดยเริ่มจากก้อนวัสดุขนาดใหญ่จนเหลือรูปร่างที่ต้องการ ในบางงานอาจจะต้องทิ้งวัสดุไปถึง 90% เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ต้องการ
ส่วนการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติจะสร้างชิ้นงานขึ้นมาทีละชั้นๆ ดังนั้นจึงไม่เกิดการสูญเสีย วัตถุดิบที่ใช้ก็เท่ากับเนื้องานที่ต้องการสร้างนั่นเอง และวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ก็สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ด้วย

ข้อด้อย

• ต้นทุนในการผลิตจำนวนมากๆ สูงกว่า
ในทางกลับกัน การพิมพ์สามมิติยังไม่สามารถแข่งขันกับการผลิตแบบดั้งเดิมได้เมื่อต้องการผลิตในจำนวนมากๆ โดยทั่วไปจุดที่คุ้มทุนของการผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติอยู่ที่ประมาณ 1,000-10,000 ชิ้น ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและรูปทรงของชิ้นงาน ในขณะที่ราคาของเครื่องพิมพ์และวัสดุลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตจุดคุ้มทุนก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

• วัสดุที่ใช้ได้ สี และพื้นผิว ยังมีให้เลือกน้อย
ถึงแม้ว่าจะมีวัสดุสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติกว่าหกร้อยชนิดในท้องตลาด แต่ทั้งหมดก็เป็นพลาสติก และโลหะเท่านั้น ซึ่งนับว่ายังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบบดั้งเดิม ทั้งในเรื่องของเนื้อวัสดุ สี และพื้นผิวที่มีให้เลือกหลากหลาย อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา มีทั้งไม้ โลหะ วัสดุสังเคราะห์ เซรามิค หรือแม้แต่ช็อกโกแลต

• ข้อจำกัดเรื่องความแข็งแรง และทนทาน
ในระบบการพิมพ์บางชนิดความแข็งแรงของชิ้นงานอาจจะไม่เท่ากันทุกจุดเนื่องจากโครงสร้างที่เป็นชั้นๆ ดังนั้นความแข็งแรงจึงไม่อาจเทียบเท่าชิ้นงานที่ผลิตจากวิธีการดั้งเดิม การผลิตซ้ำก็ยังต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน ชิ้นงานเดียวกันที่ทำจากคนละเครื่องก็อาจจะมีคุณสมบัติที่ต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการพิมพ์กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วข้อจำกัดนี้ก็จะถูกกำจัดไปในไม่ช้า

• ความแม่นยำเที่ยงตรงที่น้อยกว่า
แม้ว่าเราจะไม่สามารถพิมพ์ชิ้นงานที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยมากๆ ขนาดปุ่มเปิดปิดเสียงของไอโฟน เครื่องพิมพ์สามมิติก็ยังสามารถพิมพ์งานที่มีความคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 20-100 ไมครอน หรือขนาดความหนาของกระดาษแผ่นหนึ่ง สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป มันก็ช่วยให้ผลิตงานได้อย่างดีแล้ว

เครื่องพิมพ์สามมิติเหมาะกับใครบ้าง

สิ่งที่เป็นข้อดีมากๆ ข้อหนึ่งของเครื่องพิมพ์สามมิติก็คือมันเป็นประโยชน์กับทุก ๆ คน ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมหรือมืออาชีพเท่านั้น เราจะขอนำเรื่องราวตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นว่าทุกคนก็ใช้มันได้ และทำไมพวกเขาถึงเลือกใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการผลิตผลงาน

อุตสาหกรรมรถยนต์car-manufacturers

การพิมพ์สามมิติไม่ใช่เรื่องแปลกในอุตสาหกรรมรถยนต์ พวกเขาใช้มันผลิตต้นแบบ รวมถึงสินค้าสำเร็จรูป รถแข่งสูตร 1 ก็ใช้ทำต้นแบบ ใช้ในการทดสอบ และในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ใช้ทำในส่วนที่เข้ารูปเพื่อการแข่งรถด้วย เช่นเดียวกับบริษัทผลิตรถยนต์ Koenigsegg ในสวีเดน ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงของเทอร์โบชาร์จเจอร์ รุ่น One:1 (ซึ่งมีค่า HP to Kg curb weight ratio = 1:1) ชิ้นส่วนโลหะที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิตินี้ไม่เพียงมีน้ำหนักเบาเท่านั้น แต่ยังสามารถทนต่อการจุดระเบิดของเครื่องยนต์กำลังมหาศาลของรถแข่งระดับซูเปอร์คาร์เลยทีเดียว

การแพทย์doctors-edited

ทราบไหมว่าเครื่องช่วยฟังเกือบทั้งหมดในตลาดทุกวันนี้ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ การแพทย์ และงานอวัยวะเทียมได้รับผลประโยชน์จากการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติไปเต็มๆ รูปร่างที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละคนเช่นเครื่องช่วยฟังไม่จำเป็นต้องใช้คนมาขัดแต่งอีกต่อไป ด้วยการพิมพ์สามมิติ การปรับเปลี่ยนเป็นได้ด้วยการกดปุ่มเพียงไม่กี่ปุ่ม นั่นหมายถึงต้นทุนที่ต่ำลงมาก และความรวดเร็วในการผลิต

ทันตกรรมdentists

เช่นเดียวกับเครื่องช่วยฟัง อวัยวะเทียม และเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในทางการแพทย์ต่างๆ เช่นอุปการณ์จัดฟัน ได้ทำขึ้นมาโดยเฉพาะให้กับผู้ใช้นั้นๆ ซึ่งแต่เดิมมันเป็นปัญหามาก และใช้เวลานานมากในการทำให้เข้าแต่ละคนพอดี เมื่อมีเครื่องพิมพ์สามมิติ ปัญหาเหล่านั้นก็กลายเป็นอดีตไป ทุกวันนี้การผ่าตัดฟัน และการจัดฟันจะทำการสแกนช่องปากของลูกค้า แล้วทำชิ้นส่วนในการจัดฟันแบบครบวงจร

อวัยวะเทียมprosthetics

บางทีการที่จะแสดงให้เห็นว่าการพิมพ์สามมิติส่งผลให้ชีวิตของหลายต่อหลายคนมีคุณภาพที่ดีขึ้น ก็ดูได้จากการสร้างมือเทียมโดยกลุ่ม e-NABLE ซึ่งเป็นโครงการให้เปล่าสำหรับเด็กที่ต้องการมือเทียม สาเหตุที่เกิดโครงการนี้ก็เพราะเด็กๆ เติบโตขึ้นทุกวัน ดังนั้นมือเทียมที่ใช้ก็ต้องเปลี่ยนตาม และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ก็มีราคาแพงนับหมื่นดอลลาร์ แต่ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เด็กๆ ก็สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการร่วมแรงกายและทุนทรัพย์ของนักออกแบบและวิศวกรทั่วโลก ช่วยกันสร้างมือเทียมให้ในราคาที่ถูก

การบินและอวกาศaircraft-manufacturersaerospace-companies-edited

บริษัท GE Aviation and Safran ได้พัฒนาวิธีการพิมพ์สามมิติเพื่อพิมพ์หัว Nozzle สำหรับเครื่องยนต์เจ็ท ทำให้เครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนยุ่งยากซับซ้อนกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน และมีน้ำหนักน้อยลงมากกว่าแบบเดิม และช่วยให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 15% เครื่องยนต์นี้มีชิ้นส่วนจากเครื่องพิมพ์สามมิติถึง 19 ชิ้น ในซึ่งใช้ในเครื่องบินแบบ Boeing 737MAX และ Airbus A320neo

อุตสาหกรรมภาพยนตร์prop-makers
อุปกรณ์ประกอบฉากในการผลิตภาพยนตร์ก่อนหน้านี้จะใช้ผู้ที่มีฝีมือทำและทำด้วยมือ แต่เมื่อเครื่องพิมพ์สามมิติเข้ามามีบทบาททำให้การสร้างอุปกรณ์ประกอบฉากทำได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำโดย Vitaly Bulgarov นักออกแบบชาวแคลิฟอร์เนีย

การออกแบบผลิตภัณฑ์ product-designers
นักออกแบบสินค้าต้องการต้นแบบสำหรับการทดสอบตลาด เขาจึงใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างต้นแบบขึ้นมาและทดสอบตลาดได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมาย จากนั้นเขาได้ข้อมูลมาเพื่อปรับปรุงสินค้าให้มีความสมบูรณ์ก่อนเริ่มผลิตเพื่อวางตลาด

สถาปัตยกรรม architects
ก่อนที่จะมีเครื่องพิมพ์สามมิติ การสร้างโมเดลอาคารต่างๆ ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และใช้เวลานาน เพื่อสื่อถึงจินตนาการของผู้ออกแบบ ทุกวันนี้สำนักงานสถาปนิกขนาดใหญ่ รวมถึงสถาปนิกอิสระ ต่างทำงาน สร้างโมเดลได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วโดยการพิมพ์จากไฟล์ CAD โดยตรง ทั้งยังสามารถพิมพ์ได้ด้วยวัสดุต่างชนิด และมีสีเหมือนจริงได้ด้วย

การศึกษาstudents
เครื่องพิมพ์สามมิติช่วยให้นักเรียนมีโอกาสในการทำให้แนวคิดของพวกเขาจับต้องได้ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการออกแบบ ทำให้พวกเขาเรียนรู้ถึงความผิดพลาด และวิธีแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ผู้ประกอบการทั่วไป
design-entrepreneurs
Omar Rada ก่อตั้งบริษัทผลิตมีดทำครัวโดยตั้งปณิธานว่าจะผลิตมีดคุณภาพระดับเชฟมืออาชีพในราคาแม่บ้าน มีด Misen Kitchen Knife ของเขาได้รับเงินจากการระดมทุนถึง 1,083,344 เหรียญ จากผู้สนับสนุน 13,116 คน เขาใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการออกแบบ และทำให้ได้มีดคุณภาพดี มีต้นทุนที่ถูก เขาส่งต่อกำไรส่วนนั้นกลับไปยังผู้บริโภค

วิศวกรรม engineers
ในฐานะที่เป็นวิศวกร Rob Halifax รู้สึกว่าสินค้าที่เป็นของใช้โดยทั่วๆ ไปมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่น่าใช้เอาเสียเลย เขาจึงเริ่มออกแบบของใกล้ตัวโดยเริ่มที่มีดโกนหนวดของเขาเอง หลังจากที่ออกแบบจนเป็นที่พอใจแล้วเขาก็รีบตั้งโครงการใน Kickstarter ซึ่งประสพความสำเร็จเป็นย่างดี จนกระทั่งสร้างบริษัทได้อย่างยั่งยืน เขากล่าวว่ามันเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ผมก้าวมาไกลขนาดนี้โดยต้นทุนที่ต่ำลง

คนรักโดรนdrone-enthusiasts
Ken Giang มีความสุข สนุกกับการออกแบบและพิมพ์โดรนเป็นงานอดิเรก “สิ่งหนึ่งที่เครื่องพิมพ์สามมิติช่วยผมได้เยอะคือผมสามารถพิมพ์อะไหล่สำรองได้ไม่จำกัด ไม่ต้องพึ่งพาโรงงานเพื่อผลิตให้ ผมสามารถตกแต่ง ดัดแปลงชิ้นส่วนต่างๆ ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ ช่วยให้ผมมีกำลังใจในการพัฒนา ปรับปรุงไปได้เรื่อยๆ เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ผู้ผลิตรองเท้าshoe-manufacturers
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติคือรองเท้า Adidas โดยการพิมพ์ส่วนของ Midsole ให้เข้ากับรูปเท้าของแต่ละคน ทำให้ลดค่าจัดส่ง ค่าเช่าโรงงาน และวัตถุดิบที่เหลือทิ้ง

ผู้ผลิตสินค้าโดยทั่วไปconsumer-product-makers
สินค้าที่ขายโดยพิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติเป็นรายแรกๆ คือหูฟัง Print+ โดยจะส่งเป็นชิ้นส่วนให้ลูกค้าซึ่งจะมีชุดอิเลคทรอนิคส์ และส่วนของฝาครอบลำโพงไปในกล่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เหลือทางบริษัทจะส่งให้เป็นไฟล์ดิจิตอล ให้ลูกค้านำไปพิมพ์เอง ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถอัพเกรด ดัดแปลง หรือซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง

ตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์สามมิติว่ามีแบบไหน อย่างไรบ้าง ติดตามกันนะครับ ภาคสองกดที่นี่