พิมพ์เส้น Flexible กับเครื่อง Adventurer3

พิมพ์เส้น Flexible กับเครื่อง Adventurer3

วันนี้เห็นทาง Flashforge Canada ทดลองพิมพ์งานจากเครื่องพิมพ์ Flashforge Adventurer 3 ด้วยเส้น Flexible ตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเครื่อง Adventurer 3 เป็นการป้อนเส้นพลาสติกแบบ Bowden ซึ่งมอเตอร์ขับเส้นกับหัวพิมพ์จะอยู่ห่างกันมาก จึงมีโอกาสที่เส้น Flexible จะงอติดอยู่ในท่อส่ง ทำให้มอเตอร์ไม่สามารถดันเส้นพลาสติกไปยังหัวพิมพ์ได้ 

เราจึงคิดว่าน่าจะทดลองทำดูบ้างว่าเครื่อง Flashforge Adventurer 3 จะทำได้จริงไหม และยากง่ายอย่างไร อย่างที่ทราบกันดีว่าเส้น Flexible มีความอ่อนตัวมาก มีโอกาสจะคดงอได้ง่าย ไม่แนะนำให้ใช้กับเครื่องแบบ Bowden แต่ท่อส่งเส้นของ Adventurer 3 มีขนาดค่อนข้างพอดีกับเส้นพลาสติก จึงทำให้ไม่มีช่องว่างให้เส้นบิดงอ เป็นการบังคับให้เส้นพุ่งไปข้างหน้าอย่างสะดวก 

ในที่นี้จะใช้เส้น TPU ของ eSun ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า e-Flex มีความยืดหยุ่นสูง เหนียว การเชื่อมติดกันของเลเยอร์ดีมาก พิมพ์ง่ายติดแท่นดีมาก 

ข้อควรระวังอันหนึ่งก็คือรูปร่างของโมเดลไม่ควรมีส่วนยื่นมากนัก และไม่ควรมี Overhang เพื่อหลีกเลี่ยงการมี support ในส่วนของหัวพิมพ์ควรใช้หัวพิมพ์ใหม่เพราะหัวพิมพ์เก่าอาจจะมีเศษพลาสติกเกาะอยู่ ทำให้ขวางทางเดินเส้นพลาสติก แล้วมอเตอร์ก็จะดันเส้นไม่ไป ม้วนพลาสติกควรคลายเส้นออกมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการติดขัดระหว่างพิมพ์ 

การตั้งค่าการพิมพ์สามารถใช้โปรไฟล์ของ PLA ได้เลย แล้วปรับสามจุดนี้

  1. ปรับ retraction เป็น 0 เพื่อไม่ให้มีการดึงเส้นไปมา เป็นการลดโอกาสเส้นบิดงอ
  2. ปรับความเร็วของหัวพิมพ์ลงให้ใช้ประมาณ 20 มม./วินาที
  3. ปรับความร้อนที่หัวพิมพ์ตามที่กำหนดที่ม้วน ในที่นี้จะใช้ 220 องศา ส่วนความร้อนที่แท่นพิมพ์จะเปิดหรือปิดความร้อนก็ได้

คราวนี้ก็มาเริ่มพิมพ์กันเลย

ลุ้นๆ

สำเร็จแล้ว มีเส้นใยเล็กน้อย ใช้มีดคัตเตอร์ปาดออกไม่ยาก 

สรุปคือ Flashforge Adventurer 3 พิมพ์เส้นพลาสติกนิ่มๆ TPU ได้ครับ